1. ชื่อ
ชมรมนี้ใช้ชื่อว่า : “ชมรมผู้ตรวจสอบภายในธนาคาร และสถาบันการเงิน”
ชื่อภาษาอังกฤษว่า : "BANK & FINANCIAL INSTITUTION INTERNAL AUDITORS CLUB"
ชมรมผู้ตรวจสอบภายในธนาคารและสถาบันการเงินจัดตั้งภายใต้การกำกับดูแลของสมาคมธนาคารไทย ผ่านทางคณะกรรมการและเลขาธิการของสมาคมฯ
2. วัตถุประสงค์
2.1 เป็นศูนย์รวมและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ตรวจสอบภายในของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ
2.2 ร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการปฏิบัติงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทุจริต
2.3 เสริมสร้างการปฏิบัติงานด้านตรวจสอบภายในของสมาชิกให้มีมาตรฐานและยกระดับให้สูงขึ้น
2.4 เป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับสถาบันการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับสมาชิก
2.5 เผยแพร่และแลกเปลี่ยนข่าวสาร ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานของสมาชิก
2.6 เพิ่มพูนความรอบรู้ และประสิทธิภาพในการทำงานของสมาชิก
2.7 เป็นศูนย์กลางในการศึกษา และ ประมวลผลระบบการควบคุมภายในและวิธีการ ตรวจสอบที่เหมาะสม
2.8 ประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ
3. ที่ทำการ
3.1 ที่ทำการของชมรมฯ อยู่ที่สมาคมธนาคารไทย เลขที่ 5/13 ชั้น 4 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 โทรศัพท์ 02-558-7500
3.2 สถานที่ติดต่อ ใช้ที่ทำการของประธานและเลขาธิการกรรมการบริหารชมรมฯ ตามระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งอยู่
4. ประเภทสมาชิก
สมาชิกได้แก่ ธนาคาร และสถาบันการเงินที่สมัครเข้าร่วมชมรมฯ และได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนสมาชิกสามัญ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิก โดยแบ่งสมาชิกเป็น 3 ประเภท
(1) สมาชิกสามัญ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และเป็นธนาคารสมาชิกสมาคมธนาคารไทย
(2) สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ ธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ
(3) สมาชิกกิติมศักดิ์ ได้แก่ ที่ปรึกษาชมรมฯ ผู้มีอุปการคุณแก่ชมรมฯ ผู้มีเกียรติ ผู้ที่ชมรมฯเห็นสมควรเชิญเข้ามาเป็นสมาชิก
4.1 สมาชิกสามัญ และวิสามัญต้องแต่งตั้งผู้บริหารของฝ่ายงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบภายในให้เป็นตัวแทนสมาชิกอย่างน้อย 2 คน
4.2 กรณีที่สมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารชมรมฯ สมาชิกจะต้องแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง ของหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบภายในเป็นตัวแทน
4.3 กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวแทนของสมาชิกให้สมาชิกแจ้งนายทะเบียนชมรมฯ ทราบ เพื่อปรับปรุงทะเบียนรายชื่อตัวแทนของสมาชิก
4.4 ประธานกรรมการบริหารชมรมฯ มีอำนาจตั้งที่ปรึกษา ตามความเหมาะสมด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหาร
5. สิทธิของสมาชิก
5.1 มีสิทธิออกเสียงได้เพียงธนาคาร หรือสถาบันการเงินละ 1 เสียง
5.2 ได้รับเอกสารทางวิชาการและข้อมูลข่าวสารอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารชมรมฯ หรือคณะอนุกรรมการ แต่ละด้านจัดทำ
5.3 มีสิทธิส่งตัวแทนเข้ารับการอบรมสัมมนา หรือร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชมรมฯ ตามจำนวนที่คณะกรรมการบริหารชมรมฯ กำหนด
5.4 เข้าร่วมประชุมตัวแทนสมาชิกชมรมฯ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 11
6. ค่าบำรุงสมาชิก
สมาชิกทั้งประเภทสามัญและวิสามัญ เสียค่าบำรุงชมรมฯ เท่ากัน จำนวน 30,000 บาท ต่อปี และให้ชำระภายในเดือนมกราคมของทุกปี
7. จรรยาบรรณของตัวแทนสมาชิก
7.1 ต้องประกอบหน้าที่ความรับผิดชอบในงานวิชาชีพด้วยความระมัดระวัง ซื่อสัตย์สุจริตและยุติธรรม
7.2 ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลที่ไม่ควรเปิดเผย ซึ่งได้รับรู้ทั้งจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ และงานการเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมฯ
7.3 มีความตั้งใจจริงที่จะส่งเสริมเกียรติภูมิของผู้ตรวจสอบภายในและชมรมฯ ให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไป
7.4 มีความเสียสละที่จะสนับสนุนผลักดันการดำเนินกิจกรรมของชมรมฯ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
8. การพ้นจากสมาชิกภาพ
สมาชิกจะพ้นจากสมาชิกภาพ โดย
8.1 เมื่อสิ้นสถานภาพในการประกอบกิจการธนาคารหรือสถาบันการเงิน เช่น ถูกเพิกถอน คืนใบอนุญาต เป็นต้น
8.2 ลาออก
8.3 สมาชิกหรือตัวแทนสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของชมรมฯ โดยได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนสมาชิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสามัญ
9. การพ้นจากการเป็นตัวแทนของสมาชิก
9.1 สมาชิกแจ้งเปลี่ยนแปลงตัวแทนใหม่
9.2 ลาออก
9.3 พ้นจากการปฏิบัติงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน และหรือ จากการเป็นพนักงานของสมาชิก
10. กรรมการชมรมฯ
10.1 การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชมรมฯ
10.1.1 กรรมการบริหารชมรมฯ กำหนดให้มี 7ตำแหน่ง ซึ่งเลือกจากผู้บริหารระดับสูงของฝ่าย หรือสำนักตรวจสอบภายใน โดยประธานจะมาจากสมาชิกสามัญ ซึ่งเลือกจากผู้บริหารระดับสูงของฝ่าย เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วให้คณะกรรมการบริหารตกลงกันกำหนดหน้าที่ของกรรมการ ดังนี้
ประธาน |
ทำหน้าที่กำหนดวาระการประชุมฯ กำหนดวันประชุมฯ ดำเนินการประชุมฯ รายงานกิจกรรมและนโยบายชมรมฯ และออกหนังสือต่างๆ ในนามของชมรมฯ |
รองประธาน |
ทำหน้าที่ดำเนินการประชุมฯ แทนประธาน จัดกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก รับผิดชอบการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี และจัดหาของขวัญ |
เหรัญญิก |
ทำหน้าที่รับ / จ่ายเงิน (ประสานงานกับอนุกรรมการเกี่ยวกับการรับ / จ่ายเงิน) สรุปรายรับ/ รายจ่ายออกใบเสร็จรับเงิน จัดเก็บเอกสาร / หลักฐานทางการเงิน ควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินให้อยู่ในงบประมาณ และออกจดหมายเก็บค่าสมาชิก |
วิชาการ |
ทำหน้าที่หาหัวข้ออบรม / สัมมนา จัดเตรียมเอกสารการอบรม / สัมมนาเชิญ / แนะนำ / ต้อนรับวิทยากรออกจดหมายขอบคุณวิทยากรและเจ้าของสถานที่ (ประสานงานกับวิชาการของอนุกรรมการด้านต่างๆ) ติดต่อและจองสถานที่รวบรวมและจัดทำสำเนา CD การอบรม / สัมมนา (ตอนสิ้นปี) |
ประชาสัมพันธ์ |
ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวของชมรมฯ แก่สมาชิก / หน่วยงานภายนอก ถ่ายรูป สรุปข่าว ดูแลความสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอก เช่น ธปท. สมาคมธนาคารฯ ปฏิคม / ต้อนรับสมาชิก ดูแลความเรียบร้อย ด้านอาหาร และ maintain Website ของชมรมฯ |
นายทะเบียน |
ทำหน้าที่จัดเก็บประวัติตัวแทนสมาชิก / กรรมการ / อนุกรรมการฯ รวบรวมรายชื่อผู้เข้าสัมมนา รับลงทะเบียนวันสัมมนา รวบรวม ประเมินผล / สรุป / รายงานผลการอบรมสัมมนา |
เลขาธิการ |
ทำหน้าที่นัดประชุมกรรมการ / อนุกรรมการ / สมาชิก บันทึกการประชุมฯ ประสานงานกับกรรมการ / อนุกรรมการ / สมาชิก ติดตามดูแลความเรียบร้อยของกิจกรรมในภาพรวม และออกหนังสือต่างๆ ในนาม กบร. |
10.1.2 การเลือกตั้งคณะอนุกรรมการ ให้ตัวแทนสมาชิกที่ได้รับมอบหมายจากสมาชิกในคณะอนุกรรมการแต่ละด้านเลือกตั้งอนุกรรมการโดยใช้หลักการตาม
ข้อ 10.1.1 โดยอนุโลม
10.2 การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ
10.2.1 กรรมการบริหารชมรมฯ รวมทั้งคณะอนุกรรมการฯ สามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี ตามวาระของคณะกรรมการสมาคมฯ โดยจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกินครั้งละ 2 วาระ เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วจะได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการบริหารครั้งต่อไปได้ต้องหลังจากหมดวาระแล้ว 2 ปี
10.2.2 พ้นจากสมาชิกภาพ หรือการเป็นตัวแทนสมาชิก
10.3 การพิจารณากรรมการแทนในตำแหน่งที่ว่าง เมื่อมีกรรมการพ้นจากตำแหน่ง
10.3.1 เนื่องจากครบวาระ ให้ตัวแทนสมาชิกเลือกตั้งกรรมการใหม่ทดแทนกรรมการที่หมดวาระ
10.3.2 เนื่องจากพ้นจากการเป็นตัวแทนสมาชิก ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด หากสมาชิกแจ้งเปลี่ยนแปลงตัวแทนใหม่ ก็ให้ผู้นั้นดำรงตำแหน่งกรรมการแทน แต่ในกรณีที่สมาชิกไม่ได้ส่งตัวแทนมาใหม่ ให้คณะกรรมการบริหารชมรมฯ แต่งตั้งซ่อมกรรมการใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระที่เหลือ
10.4 ภาระหน้าที่ของกรรมการ บริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของชมรมฯ สอดคล้องและสนับสนุนกับแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทย โดย
10.4.1 จัดให้มีการประชุมตัวแทนสมาชิกตามเวลาที่ได้กำหนดไว้
10.4.2 จัดทำและเสนอนโยบาย แผนงานและงบประมาณในการบริหารงานแต่ละปีต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อขออนุมัติ
10.4.3 รวบรวมข้อมูล ข่าวสาร ที่่ตัวแทนสมาชิกเสนอมาให้เพื่อนำไปเผยแพร่แก่สมาชิก
10.4.4 เสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และปัญหาที่สำคัญแก่สมาคมธนาคารไทย
10.4.5 จัดให้มีการอบรม ส่งเสริมความรู้ พัฒนาบุคลากรของสมาชิกอย่างสม่ำเสมอโดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ทั้งจากองค์กรภายนอกหรือภายในของสมาชิกชมรมฯ หรือผู้บริหารระดับสูงของสมาชิกมาบรรยาย หรือให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่ตัวแทนสมาชิก
10.4.6 เป็นตัวแทนร่วมประชุมกับชมรมฯอื่น ที่เกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน
10.4.7 ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมตัวแทนสมาชิก และภารกิจอื่นใดที่เป็นการเสริมสร้างความเจริญมาสู่ชมรมฯ
10.4.8 จัดทำทะเบียนรายชื่อตัวแทนสมาชิกที่เป็นผู้บริหารการตรวจสอบภายในให้แก่ตัวแทนสมาชิกทราบ
10.4.9 รายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแผนงาน และรายรับ – รายจ่าย และฐานะการเงินของชมรมฯ ให้ที่ประชุมตัวแทนสมาชิกทราบอย่างน้อยทุก 6 เดือน และนำเสนอต่อคณะกรรมการสมาคมธนาคารไทยให้รับทราบ
11. การประชุม
11.1 การประชุมตัวแทนสมาชิกอย่างน้อย 3 ครั้งต่อปี โดยประธานชมรมฯ จะเป็นผู้เชิญประชุม นอกจากนี้อาจจัดให้มีการประชุมพิเศษได้ตามความเหมาะสม
11.2 ให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารอย่างน้อย 3 เดือนครั้ง และให้เชิญประธานคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ เข้าร่วมประชุมด้วยตามความเหมาะสม
อนึ่งการประชุมตามข้อ 11.1 และ 11.2 จะเชิญบุคคลภายนอกมาร่วมประชุมด้วยก็ได้
12. ค่าใช้จ่าย
12.1 ให้ประธานมีอำนาจอนุมัติค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและตามที่จ่ายจริงในกิจกรรมของชมรมฯ ในวงเงินครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท หากเกินวงเงินให้อนุมัติร่วมกันกับรองประธาน แล้วแจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารรับทราบ
12.2 การเบิกจ่ายให้เหรัญญิกลงนามร่วมกับกรรมการตำแหน่งอื่นๆ อีก 1 คน
12.3 ค่าใช้จ่ายในการอบรมหรือสัมมนาของชมรมฯ รวมทั้งเอกสารวิชาการ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 5.3
12.4 ให้ประธานคณะอนุกรรมการแต่ละด้านชี้แจงรายรับ – รายจ่าย จากการจัดทำกิจกรรมให้ตัวแทนสมาชิกทราบและให้นำเงินคงเหลือเข้าบัญชีชมรมฯ
12.5 ค่าใช้จ่ายอื่นใดที่นอกเหนือจากการใช้จ่ายในกิจกรรมประจำ ซึ่งอาจจะมีขึ้นและมีจำนวนเงินเกินกว่ากึ่งหนึ่งของข้อ 12.1 ให้ขอมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร
13. ข้อบังคับ และการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับชมรมฯ
ข้อบังคับ และการแก้ไขข้อบังคับของชมรมฯ จะต้องได้มติของที่ประชุมใหญ่ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่เข้าประชุม คณะกรรมการต้องส่งร่างแก้ไขไปพร้อมกับหนังสือเชิญประชุม และหลังที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ส่งรายละเอียดการแก้ไขตามมติของที่ประชุมให้คณะกรรมการสมาคมธนาคารไทยเห็นชอบ
14. การจัดตั้งชมรมใหม่ การเปลี่ยนแปลง และยกเลิกชมรมฯ
การจัดตั้ง เปลี่ยนแปลง และยกเลิกชมรมฯ จะต้องได้มติของที่ประชุมใหญ่ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่เข้าประชุม คณะกรรมการต้องส่งร่างแก้ไขไปพร้อมกับหนังสือเชิญประชุม โดยหลังการประชุมประธานต้องส่งรายละเอียดมติของที่ประชุมให้คณะกรรมการสมาคมธนาคารไทยเห็นชอบ
ข้อบังคับ-ปรับปรุงใหม่.pdf