กฎหมายกำหนดแนวทางจัดการหนี้สินของคู่สมรสไว้ ดังนี้
1.หนี้สินระหว่างคู่สมรสกันเอง
คู่หนุ่มสาวที่คบค้าสมาคมกันก่อนที่จะปิ๊งจนพากันจูงมือเข้าสู่ประตูวิวาห์และจดทะเบียนสมรสกันนั้น บางคู่อาจมีความเกี่ยวพันจนเกิดหนี้สินระหว่างกันมาก่อน เช่น หนี้ละเมิด ที่อาจเกิดจากทั้งคู่ขับรถยนต์มาเฉี่ยวชนกันจนรู้จักและชอบพอกัน หรือ หนี้ทางนิติกรรม ที่อาจเกิดจากการทำธุรกรรมที่เป็นเรื่องยอดฮิตก็คงเป็นเรื่องของการกู้ยืมเงิน และหนี้สินเหล่านั้นยังไม่ได้ชำระสะสางกันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง
หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว คู่สามีภริยาก็อาจจะก่อหนี้สร้างสินระหว่างกันเองได้อีก เช่น ฝ่ายชายอยากลงทุนทำการค้าเลยเอ่ยบอกฝ่ายหญิง ซึ่งก็อาจไปบอกกับคุณพ่ออีกทอดหนึ่ง ถ้าได้เงินมาลงทุนสมดังหวัง ก็เป็นปัญหาว่าจะต้องชำระหนี้คืนพ่อตา หรือจะต้องชำระหนี้แก่ภริยา ซึ่งมีผลทางกฎหมายต่างกัน
หนี้สินระห่างสามีภริยา อย่างไรเสียผู้เป็นลูกหนี้ย่อมจะต้องชำระคืนแก่ฝ่ายเจ้าหนี้หากบิดพลิ้วเจ้าหนี้สามารถฟ้องคดีต่อศาลได้ แต่ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันฝ่ายใดจะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ซึ่งเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า เป็นหนี้พ่อตาเบี้ยวไม่ได้เป็นหนี้ภริยาพอคุยได้
การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งกฎหมายเปิดช่องเล็ก ๆ ให้ทำได้เฉพาะในคดีที่ฟ้องร้องเพื่อการปฏิบัติหน้าที่หรือรักษาสิทธิระหว่างสามีภริยา หรือสำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดู และค่าฤชาธรรมเนียมที่ยังไม่ชำระตามคำพิพากษาของศาสนาของศาล หากเป็นหนี้สินประเภทอื่น จะยึดหรือายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ ต่อเมื่อมีการหย่าขาดกันแล้ว
2.หนี้สินของคู่สมรสต่อบุคคลภายนอก
2.1 หนี้ร่วมของสามีภริยา หมายถึง หนี้สินที่คู่สมรส คนใดคนหนึ่ง หรือ ทั้งสองคน มีหน้าที่จะต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้โดยสิ้นเชิงทั้งจำนวนซึ่งลูกหนี้จะเกี่ยงงอนให้เจ้าหนี้ไปบังคับชำระหนี้เอากับลูกหนี้อีกคนหนึ่งไม่ได้ หนี้ร่วมตามที่กำหนดไว้มีรายการ ดังนี้
(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวการอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว และการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
หนี้สินเรื่องนี้เป็นหนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อจัดหาปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงคงอยู่ของครอบครัว ให้เกิดความอบอุ่น มั่นคง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงเป็นหนี้ร่วมของคู่สมรสที่ต้องร่วมกัน (ไม่ใช่แบ่งกัน) รับผิดชอบต่อเจ้าหนี้
(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
หนี้สินเรื่องนี้เป็นหนี้ที่เกิดจากสินสมรส เช่น สิ่งของตกจากตัวบ้านที่เป็นสินสมรสหล่นใส่ผู้คนได้รับบาดเจ็บ คู่สมรสต้องร่วมกันรับผิดชอบในค่าเสียหายต่อผู้บาดเจ็บ หรือหนี้เพื่อประโยชน์ของสินสมรส เช่น รถยนต์ สินสมรสเกิดชำรุด ก็จำเป็นต้องซ่อมแซมให้ใช้งานได้ หนี้สินนี้จึงเป็นหนี้ร่วมของคู่สมรส
(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
หนี้สินเรื่องนี้ มักจะเป็นเรื่องที่เกิดจากการประกอบธุรกิจการค้าร่วมกันเช่น เถ้าแก่สั่งสินค้า-ขายสินค้า เถ้าแก่เนี้ยเก็บเงิน ดูแลร้าน หากเกิดเป็นหนี้เป็นสินขึ้นก็เป็นหนี้ร่วม
(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน
หนี้สินเรื่องนี้ เกิดจากการที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน หมายถึง การรับรู้หรือยินยอมในการที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไปก่อหนี้สินขึ้น ซึ่งอาจเป็นการรับรู้ยินยอม โดยชัดแจ้ง เช่น ทำเป็นหนังสือให้ความยินยอม หรือลงชื่อเป็นพยานในสัญญาที่อีกฝ่ายหนึ่งไปทำขึ้น หรือเป็นการรับรู้ยินยอมโดยปริยายก็ได้ เช่น สามีซื้อสินค้าแล้วให้ผู้ขายมาส่งที่บ้าน
ภริยาก็รับมอบสินค้าจากผู้มาส่งโดยไม่อิดเอื้อน แม้ภริยาจะไม่ได้ใช้สอยสิ่งของนั้นด้วย แต่เมื่อรับรู้แล้วไม่โต้แย้งก็ถือว่ายินยอมโดยปริยายจึงต้องร่วมกันเป็นหนี้ด้วย
เมื่อเป็นหนี้ร่วมของสามีภริยาที่เกิดจากกรณีใดกรณีหนึ่งข้างต้นแล้วเจ้าหนี้มีสิทธิบังคับให้ชำระหนี้
(ยึดหรืออายัด) จากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย
2.2 หนี้ส่วนตัวของสามีหรือภริยา หมายถึง หนี้สินที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตาม 2.1 คู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้ก่อหนี้ขึ้น เช่น ไปสั่งซื้อรถยนต์ให้ญาติของตัวเองใช้งาน ไปกู้ยืมเงินมาจัดงานเลี้ยงวันเกิดตัวเอง โดยที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย ผู้ที่ก่อหนี้นั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้แต่ฝ่ายเดียวโดยสิ้นเชิง
เจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้ (ยึดหรืออายัด) จากสินส่วนตัวของฝ่ายที่ก่อหนี้ก่อน หากไม่เพียงพอเจ้าหนี้ สามารถบังคับชำระหนี้จากสินสมรสได้ 50%
ในกรณีที่ไม่มีสินสมรส เช่น คู่สามีภริยาที่เพิ่มจดทะเบียนสมรสกันใหม่ ๆ ยังไม่มีรายได้ จึงยังไม่มีสินสมรส หรือกรณีที่เคยมีสินสมรสแต่ได้จำหน่ายใช้จ่ายไปจนหมดสิ้นแล้วกฎหมายกำหนดว่าสามีและภริยาต้องช่วยกันออกค่าใช้จ่ายสำหรับการครองเรือนเยี่ยงสามีภริยาตามส่วนมากและน้อยของสินส่วนตัวและฝ่าย หมายความว่า ใครมีมากก็ออกเงินมาก ใครมีน้อยก็ออกเงินน้อย ตามสัดส่วนของแต่ละคน
การนำกฎหมายมาใช้บังคับกับคู่สมรสที่ครองเรือนกันด้วยความรักหวานชื่นมีความห่วงหาอาทรต่อกันอย่างจริงใจ ถือว่าเป็นเรื่องที่แข็งกระด้างเกินไปสำหรับขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมบ้านเรา เพราะการผ่อนสั้นผ่อนยาว ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันย่อมเป็นแนวทางที่ประเสริฐร่มเย็น
เก็บเรื่องของกฎหมายไว้เป็นทางเลือกสุดท้ายดีกว่า
(จากวารสารวิชาการปริทัศน์ของ ธกส.)