เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อนสมาชิกคงได้รับทราบข่าวสารจากสื่อแขนงต่างๆ แล้วว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ของประเทศที่ถูกขึ้น Blacklist ด้าน ปปง. จากคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force on Money Laundry – FATF) โดย FATF ลงมติว่าประเทศไทยยังขาดมาตรการหลายด้านในเรื่องการปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) และจัดระดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งการที่ถูกขึ้น Blacklist ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยดังนี้
* เกิดความล่าช้าในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศในเรื่องการชำระเงินค่าสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงการโอนเงินระหว่างประเทศ เนื่องจากลูกค้าต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม ส่วนธนาคารต้องเพิ่มขั้นตอนในการตรวจสอบเอกสาร และลูกค้าอาจต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นด้วย
* เป็นการลดความสามารถในการแข่งขันและความน่าเชื่อถือในการทำธุกรรมกับต่างประเทศ โดยที่คนไทย / นิติบุคคลไทยอาจมีปัญหาในการทำธุรกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคู่ค้าในแถบอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย
* การแก้ไขปัญหาสำหรับประเทศไทยต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย เพิ่มกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการป้องปรามการฟอกเงิน ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารและสถาบันการเงินทั้งหลายต้องปรับเพิ่มกระบวนการทำงาน อาทิ การพิสูจน์ทราบข้อมูลและหลักฐานการแสดงตนของลูกค้า (KYC/CDD) การตรวจสอบลูกค้าทุกรายและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า(ผู้มีอำนาจลงนามของนิติบุคคล)กับ UN Sanction List และการเฝ้าระวัง สอบทาน และติดตามความเคลื่อนไหวบัญชีลูกค้าอย่างเข้มข้นสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฟอกเงินในระดับสูง (Monitoring) เป็นต้น
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับมาตรการต่างๆ ที่ภาคราชการของไทยจะกำหนดออกมาช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการถูกขึ้นบัญชี Blacklist และพัฒนาต่อไปได้ในระดับสากลคณะอนุกรรมการตรวจสอบงานด้านทั่วไป จึงจัดให้มีการอบรมสัมมนาในเรื่อง “ผลกระทบต่อธนาคารและสถาบันการเงินเมื่อประเทศไทยถูกขึ้น Blacklist ด้าน ปปง. และผลกระทบต่อการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน” โดยได้เรียนเชิญวิทยากรจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องมาบรรยายให้ความรู้แก่เพื่อนสมาชิก ดังนี้
(1) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(2) คุณโสมสิริ สียางนอก กรรมการผู้จัดการบริษัท AML Experts จำกัด
(3) คุณทักษิณา เกษมสันต์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตรวจสอบภายใน ธนาคารแสตนด์ดาร์ดชาร์เตอร์ดฯ
โดยหัวข้อหลักในการสัมมนา ได้แก่:
* ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานสากลด้านการป้องปรามการฟอกเงินของ FATF และข้อเปรียบเทียบกับมาตรการของประเทศไทย ที่เป็นสาเหตุให้ไทยถูกขึ้นบัญชี Blacklist รวมถึงมาตรการที่จะช่วยแก้ไขให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากถูกขึ้นบัญชีดำ
* ข้อแนะนำสำหรับธนาคารและสถาบันการเงินเพื่อการเตรียมการรองรับมาตรการต่างๆ ที่จะมีเพิ่มเติม รวมทั้งประเด็นที่ผู้ตรวจสอบภายในของธนาคารและสถาบันการเงินควรให้ความสำคัญ
* ความรู้เกี่ยวกับระบบงานและเครื่องมือที่จะนำมาช่วยในการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ในระดับสากล เช่น การตรวจสอบ/พิสูจน์ทราบข้อมูลของลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องของลูกค้า (KYC/CDD/UN Sanction Check) การตรวจสอบและติดตามความเคลื่อนไหวในการใช้บัญชี (Transaction Monitoring)
* การประเมินความเสี่ยงและแนวทางการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ด้าน ปปง.(Risk assessment and Review of regulatory compliance)
คณะอนุกรรมการฯ จึงขอเรียนเชิญธนาคาร/สถาบันการเงินสมาชิกส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมสัมมนาโดยพร้อมเพรียง ทั้งนี้สมาชิกจะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมสัมมนาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายธนาคารละ 3 ท่าน สำหรับสมาชิกที่ร่วมเป็นคณะทำงานกับคณะอนุกรรมการฯ ได้รับสิทธิ์เพิ่มอีก 2 ท่าน รวมเป็น 5 ท่าน โปรดแจ้งความจำนง โดย FAX ใบลงทะเบียนเข้าสัมมนาถึงนายทะเบียนภายในวันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2555
อนึ่ง หากสมาชิกรายใดต้องการส่งเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ทางชมรมขอรับเงินสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายท่านละ 1,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีของชมรม ภายในวันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2555 บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 004-2-28000-8 ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอาคารสาธรซิตี้ ชื่อบัญชี ณภัทร ภรณ์ธนโชติ และ ทักษิณา เกษมสันต์ฯ เพื่อการฝึกอบรม และ FAX ใบนำฝากถึงนายทะเบียน
กำหนดการสัมมนาของคณะอนุกรรมการตรวจสอบด้านทั่วไป
เรื่อง “ผลกระทบต่อธนาคารและสถาบันการเงินเมื่อประเทศไทยถูกขึ้น Blacklist ด้าน ปปง.
และผลกระทบต่อการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน”
วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน2555 เวลา 8.30 – 17.00 น.
ณ ห้องราชเทวี โรงแรมเอเซีย ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
08.30 - 09.00 น. ลงทะเบียน
09.00 - 10.15 น. การบรรยายเรื่อง “มาตรฐานสากลด้านการปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ของ FATF (Financial Action Task Force)”
10.15 - 10.45 น. พักรับประทานอาหารว่าง
10.45 - 12.00 น. การบรรยายเรื่อง “ข้อเปรียบเทียบระหว่างมาตรฐานสากลด้านการปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย กับ กฎหมาย กฏระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ของประเทศไทย และการพัฒนาไปสู่ระดับสากล”
12.00 - 13.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00 - 14.15 น. การบรรยาย เรื่อง “ข้อแนะนำแก่ธนาคารและสถาบันการเงินเพื่อเตรียมการสำหรับรองรับมาตรการที่จะมีการกำหนดเพิ่มเติม และประเด็นที่ผู้ตรวจสอบภายในของธนาคารและสถาบันการเงินควรให้ความสำคัญ”
14.15 – 14.45 น. พักรับประทานอาหารว่าง
14.45 – 16.00 น. การบรรยายเรื่อง “ความรู้เกี่ยวกับระบบงานและเครื่องมือต่างๆ ที่จะนำมาช่วยในการตรวจสอบลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า (KCY/CDD, Sanction list checking) ระบบงานเพื่อสอบทานและติดตามความเคลื่อนไหวในบัญชีของลูกค้า (Transaction Monitoring) รวมทั้งตัวอย่างการใช้ระบบงานทั้งในและต่างประเทศ (ถ้ามี)”
16.00 – 16.30 น. การบรรยายเรื่อง “การประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย ปปง. ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะมีการกำหนดเพิ่มเติม รวมทั้งแนวทางการตรวจสอบ”
16.30 - 17.00 น. ตอบข้อซักถาม
หัวข้อสัมมนานี้เหมาะสำหรับ: ผู้ตรวจสอบภายใน, เจ้าหน้าที่กำกับการปฏิบัติงาน, ฝ่ายกฎหมาย, ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ และ ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง
ห้องราชเทวี โรงแรมเอเซีย ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ มีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้า BTS กับโรงแรม